เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ปราณี ธรรมนิยม, นายชวลิต ศิริกังวาลกุล, นายทองใบ แจ่มจำรัส, นายทวี โพธิ์ดำ, น.ส.กฤษณา น้อยปลา, นายณรงค์ ปิณฑรัตนวิบูลย์, นายทวี อับดุลเลาะห์, น.ส.กุสุมา อินสมะพันธ์, นางจารุวรรณ แสงอรุณ และ น.ส.ปาตีเมาะ แสงสว่าง เป็นจำเลยที่ 1-10 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76,152
คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 จำเลยทั้ง 10 คน กับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนางทยา ทีปสุวรรณ ซึ่งแยกไปดำเนินคดีต่างหากแล้ว กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันนำผู้ชุมนุม (กปปส.) ประมาณ 50 คน ไปปิดล้อมทางเข้าสำนักงานเขตทุ่งครุ ซึ่งเป็นที่เลือกตั้งกลางประจำเขตเลือกตั้งที่ 26 กรุงเทพมหานคร อันเป็นสถานที่ที่กำหนดให้ลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป จำเลยกับพวกร่วมกันนำรถไปจอดหน้าสำนักงาน พากันไปยืนและนั่งขวางหน้าประตู ใช้โซ่ขนาดใหญ่คล้องบานประตูทางเข้าออก ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าไปในสำนักงานเขตทุ่งครุได้
ทั้งนี้ ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาล นายทองใบ แจ่มจำรัส จำเลยที่ 3 เสียชีวิต ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2, 6-7 คนละ 1 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4-5, 8-10 จำคุกคนละ 1 ปี แต่คำเบิกความของจำเลยที่ 1-2, 4-10 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-2, 6-7 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 4-5, 8-10 คนละ 8 เดือน และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1-2, 4-10 คนละ 5 ปี หลังจากนั้นพวกจำเลยยื่นอุทธรณ์และได้รับการประกันตัว
ด้านศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ในส่วนของ น.ส.ปราณี จำเลยที่ 1 โจทก์มีตำรวจ สน.ทุ่งครุ เป็นพยาน เบิกความพบ น.ส.ปราณี จำเลยที่ 1 กำลังพูดโทรโข่งเรียกกลุ่มคนให้เข้าไปขัดขวางตำรวจที่จะตัดโซ่คล้องปิดประตูสำนักงานเขตทุ่งครุ ศาลเห็นว่า พยานโจทก์เป็นข้าราชการตำรวจท้องที่ จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาเขตท้องที่ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจที่พยานจะปรักปรำจำเลยที่ 1 น่าเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามที่พบเห็น ประกอบกับจำเลยที่ 1 รับว่า วันเกิดเหตุได้มาที่สำนักงานเขตทุ่งครุ พูดโทรโข่งรณรงค์ให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำชุมชนในท้องที่เกิดเหตุ เมื่อตำรวจขอเจรจาให้จำเลยที่ 1 เปิดประตูสำนักงานเขต หากจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็น ก็น่าจะเจรจากับกลุ่มบุคคลขอให้เปิดกุญแจที่คล้องโซ่ ไม่ปฏิเสธหนักแน่นว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว และใช้โทรโข่งเรียกมวลชนขัดขวางมิให้ตำรวจตัดโซ่ ประกอบกับพยานบุคคลเบิกความเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 คุยให้ฟังว่า นายณัฏฐพลเป็นผู้มอบโซ่และกุญแจให้จำเลยที่ 1 จำนวน 3 ชุด ไปปิดประตูสำนักงานเขตทุ่งครุ พยานโจทก์ที่สืบมามีน้ำหนักมั่นคง ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยเพียงแต่พูดโทรโข่งเรียกมวลชน ไม่ได้กระทำด้วยความรุนแรง สมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี ด้วยการรอการลงโทษจำคุก แต่ให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
สำหรับจำเลยที่ 2, 4-10 โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่า มีพฤติกรรมหรือการกระทำใดอันเป็นการขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้งแต่อย่างใด จำเลยไม่มีการปิดบังอำพรางใบหน้า ชุมนุมอย่างเปิดเผย ด้วยความสงบ ปราศจากความรุนแรง แม้มีเจตนาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เช่นเดียวกับกลุ่มบุคคลที่ใช้โซ่คล้องแล้วใส่กุญแจปิดสำนักงานเขตทุ่งครุ ก็ไม่อาจถือว่า จำเลยที่ 2, 4-10 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2, 4-10 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2, 4-10 ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ น.ส.ปราณี จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท ในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับ 20,000 บาท โทษจำคุก 1 ปี ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 4-10 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น