สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ถูกพูดถึงและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก คือกรณีมีการรื้อถอนอาคารบริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า อายุไม่ต่ำกว่า 120 ปี ที่ จ.แพร่ ซึ่งอาคารดังกล่าวอยู่ในสวนรุกขชาติเชตวัน เป็นอาคารไม้เก่าแก่ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่ได้สัมปทานเข้ามาทำไม้ในเมืองไทย เมื่อหมดสัมปทาน ได้ยกอาคารดังกล่าวให้กับรัฐ โดยอาคารดังกล่าวถือเป็นประวัติศาสตร์การค้าไม้เมืองแพร่ และเป็นอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
นายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว สถาปนิก และประธานเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ กล่าวว่า “หลังจากมีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน ที่บริเวณชุมชนเชตะวัน ริมแม่น้ำยม อ.เมือง จ.แพร่ มูลค่า 4,560,000 บาท โดยผู้รับจ้างเป็นบริษัทรับเหมาในจังหวัดแพร่เข้ามาดำเนินการ ปรากฏว่า มีการทุบทิ้งอาคารไม้เก่าแก่ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ทำให้ประชาชนชาวแพร่ช็อกไปตามๆ กัน เนื่องจากเป็นอาคารไม้เก่าแก่ที่เห็นกันมานาน อายุ 120 ปี ถูกรื้อถอนเหลือแต่ซากปรักหักพัง ต้องเข้าไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสาเหตุข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร…”
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า ได้รับรายงานจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ำว่า เป็นการซ่อมแซม แต่การซ่อมครั้งนี้เป็นการของบประมาณจากจังหวัด และเนื่องจากเป็นการซ่อมอาคารไม้ทั้งหลัง ไม้ทุกแผ่นกองอยู่ข้างๆ ไม่ได้หายไปไหน สาเหตุที่ต้องรื้อไม้ลงมา เพราะฐานรากคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ การจะซ่อมได้ต้องทุบทิ้งก่อน และต้องทำฐานรากใหม่ พอทำฐานรากเสร็จแล้ว ก็มาประกอบตัวอาคารใหม่ ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า เมื่อบูรณะแล้ว จะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า หลายอาคารที่มีการบูรณะ รูปแบบที่ทำออกมาแล้วก็เหมือนเดิม แต่สีอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เชื่อว่า ทาง จ.แพร่มีช่างที่มีฝีมือ จึงเชื่อว่า การประกอบอาคารหลังการบูรณะจะกลับมาเหมือนเดิมได้
ขณะที่นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า อาคารไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จ.แพร่ อายุกว่า 131 ปี ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร แต่เป็นโบราณสถานประเภทที่ไม่ขึ้นทะเบียน โดยหลักการตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ การบูรณะต้องทำหนังสือขออนุญาตมายังกรมศิลปากร ซึ่งทางกรมอุทยานได้ทำหนังสือมาขออนุญาตแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา และว่า การรื้อถอนอาคารลงมาทั้งหลังแล้วประกอบขึ้นใหม่นั้น สามารถทำได้ หากวิศวกรมีการวิเคราะห์แล้วว่า อาคารได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ต้องมีการเก็บรายละเอียด ลอกลาย เก็บแบบรายละเอียดก่อน “กรณีนี้ถือว่า ผู้รับเหมามีความระมัดระวังในรายละเอียดค่อนข้างน้อย ดังนั้น ทางกรมศิลปากรจะส่งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญลงไปช่วยดู เพื่อให้การบูรณะเป็นไปตามหลักวิชาการ เชื่อว่าจะสามารถบูรณะและประกอบอาคารกลับมาได้สวยงามเช่นเดิม…”
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า สมาคมฯ ได้รับข้อมูลที่ผิดปกติเกี่ยวกับการรื้อทุบทำลายอาคารดังกล่าวจากสายข่าว กอ.รมน. แจ้งว่า มีการเจรจาซื้อขายไม้เก่าชั้นดีบางส่วนที่รื้ออกมาจากอาคารบอมเบย์เบอร์มาออกขายไปแล้ว โดยพ่อค้าไม้เฮือนเก่า จากบ้านปงท่าข้าม อ.สูงเม่น จ.แพร่ โดยมีความพยายามขนย้ายไม้เก่าออกจากพื้นที่ในเวลากลางคืน เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุก สภ. ใน จ.แพร่ ต้องประสานเพื่อดักจับกุม หากมีการลักลอบขนย้ายกันจริง แต่พอเรื่องดังกล่าวเป็นข่าวดังขึ้นมา มีการเจรจาขอไม้บางส่วนคืน แต่ถูกปฏิเสธเพราะ “คืนไม้ไม่คืนเงิน”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายศรีสุวรรณ ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ละเลยเพิกเฉยปล่อยให้มีการทุบทำลายอาคารประวัติศาสตร์บอมเบย์เบอร์ม่าแล้ว ซึ่งนอกจากนายศรีสุวรรณ ยังมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ และนายปริญญา ศิริสารการ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาร่วมร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.ด้วย โดย นพ.ทศพร ได้นำภาพวาดอาคารบอมเบย์เบอร์ม่า ที่วาดด้วยตัวเอง มาเรียกร้องขอให้ ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะกระทบต่อความรู้สึกของชาวแพร่และคนไทยอย่างมาก