เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ได้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2562 พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายว่า ในส่วนแผนแม่บทความมั่นคงนั้น เมื่อการเมืองมีปัญหา ขาดเสถียรภาพ ความสงบในประเทศยอมไม่ยั่งยืนตามไปด้วย การปฏิบัติให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติย่อมไม่สำเร็จ จึงขอเสนอการสร้างความปรองดองว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2563 เพราะความขัดแย้งทำให้สังคมแยกเป็น 2 ขั้ว และแยกย่อยมากขึ้นทุกที ร้าวลึกถึงระดับครอบครัว มีผู้มีคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนับร้อยคน เชื่อมโยงไปถึงมวลชนอีกนับล้านคน ที่เมื่อมีคดีตัดสินออกมา จะเกิดวิวาทะทางออนไลน์
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า “นายกฯ จะรวมไทยสร้างชาติได้อย่างไร ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้ขึ้นศาลทุกสัปดาห์ จะไปต่างประเทศต้องรายงานต่อศาล หลายคนถูกยึดทรัพย์ การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ยังจบได้ ด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้อภัย เปิดโอกาสให้พลังทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาชาติไทย ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม การทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมืองหรือทำผิดอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การกระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม ดังนั้นนายกฯ อย่าลังเล”
ส่วนคนหนีคดีจะทำอย่างไรนั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ในหลักการอธิบายรายละเอียดได้ คือ 1.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง 2.นิรโทษกรรมเบื้องต้นเฉพาะผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว 3.ใครยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาที่จะออกแบบตั้งขึ้นมา ย่อมได้สิทธินี้ และ 4.อาจจะต้องตีความนิยามการชุมนุมทางการเมืองผ่านการออกแบบจากคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา จึงอยากให้นายกฯ แสดงเจตจำนงนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน อาจเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา จะเป็นการสร้างบารมีให้นายกฯ เพื่อสร้างระบบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีธรรมาภิบาล ถ้านายกฯ รวมใจคนทุกภาคส่วนเข้ามา โดยมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกก็จะก้าวต่อไปได้ จึงขอฝากความหวัง นำจิตสำนึกผู้รักชาติทุกคน ทุกสี ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 15 ปี เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีนายคำนูณเสนอให้สร้างความปรองดองด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนในคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ยังไม่ได้คิด ยังไม่เห็นเรื่อง”
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวถึงข้อเสนอของนายคำนูณว่า เป็นความเห็นของนายคำนูณ แต่ต้องมาดูว่า มีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต และดีกว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะการออก พ.ร.บ.ดังกล่าวเหมือนกับเมื่อมีการกระทำผิดแล้วมานิรโทษกรรม ทำให้การเมืองไม่สงบ ควรมีทางอื่นหรือไม่ โดยไม่เสียหลักการทางกฎหมาย อาทิ การให้ผู้กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วได้รับบทลงโทษสักระยะก่อนที่จะใช้วิธีพักโทษ ดูแล้วน่าจะเป็นวิธีเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา เพราะคนทำผิด จำเป็นต้องถูกลงโทษตามกฎหมายดีกว่าที่จะไปนิรโทษกรรมอย่างเดียว เรื่องนี้คณะกรรมาธิการการเมือง วุฒิสภา ที่เป็นประธาน จะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกันใน กมธ.เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป