เมื่อวันที่
28 พ.ค. มีรายงานว่า
อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4
เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร คดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท ส่งผลให้คดีเป็นอันสิ้นสุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง โดยมีรายงานว่า คำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง
ซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด ส่วนเหตุผลคำสั่งชี้ขาดดังกล่าว
คาดว่าจะมีการชี้เเจงจากสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป
สำหรับคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง
ได้มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษา 2 คนมีความเห็นต่างกันในการตัดสิน
โดย 1 ในองค์คณะ มีความเห็นแย้งว่า
พฤติการณ์ที่มีเช็คเงินลงชื่อนาย วิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร
โอนเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เป็นความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย
ซึ่งหากคู่ความยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบด้วย
ทั้งนี้ หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ดังกล่าว
ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษและอัยการคดีศาลสูง ได้มีความเห็นไม่สมควรอุทธรณ์คดี
จึงต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้ง โดยดีเอสไอพิจารณาแล้ว มีความเห็นแย้ง โดยเห็นว่า
ยังมีประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูง เพื่อวินิจฉัย
อธิบดีดีเอสไอจึงมีความเห็นควรให้นำคดีขึ้นสู่ศาลสูง โดยส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยคำฟ้องคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่
17 พ.ค.2547 หลังจากนายวิชัย
กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร
กับพวกร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยฯ
ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท)
แล้วนายวิชัยกับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัยได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด
ที่มีนายรัชฎา บุตรชาย, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการฯ
บริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายเชื้อ ช่อสลิด
เป็นกรรมการฯ มาใช้ในการรับโอนเงิน
แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดยนายวิชัยได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้น
ให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท
ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา บุตรของนายวิชัย
และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
โดยนายวิชัยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค.2547
จากบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารไทยธนาคาร สาขาบางพลัด
ระบุชื่อนายพานทองแท้ ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.2547 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ
สาขาบางพลัด ของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค.2547 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์
ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของจำเลยอีกอัน จากนั้นระหว่างวันที่
24 พ.ค.-26 พ.ย.2547 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000
– 20,000 บาท รวม 11 ครั้ง
ต่อมา ช่วงวันที่ 14 มิ.ย.2547 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของจำเลย 80,000 บาท แล้ววันที่ 30 พ.ย.2547 จำเลยได้ถอนเงิน
8,800,000 บาทจากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวัน
ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.2547 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน
14,700,000 บาทจากบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ
สาขาซอยอารีย์ โดยนายวิชัย, นายรัชฎา
กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธนาคารกรุงไทยฯ (รวม 18 คน)
ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ
ทั้งนี้
หลังมีรายงานว่า
อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย
จำนวน 10 ล้านบาท โดยคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง
ซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด ปรากฏว่า วันต่อมา 29 พ.ค.
นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษสำนักงานคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
ได้เปิดแถลงกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ
4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้
คดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาทว่า
คดีดังกล่าว นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด คนที่ 1
ซึ่งอาวุโสสูงสุด รักษาราชการเเทนนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์
อัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปราชการในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 7
ได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี โดยสำนวนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีสำนักงานอัยการสูงสุด
ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาความเห็นเเย้ง ได้ทำความเห็น ควรไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว
ก่อนส่งความเห็นมายังอัยการสูงสุด โดยมีนายเนตร ซึ่งรักษาราชการเเทน
พิจารณาเเล้วมีความเห็นตามที่สำนักงานชี้ขาดคดีทำความเห็นมา จึงมีความเห็นชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลสูง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนที่มีการยื่นขยายอุทธรณ์ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่
25 พ.ค.เเล้ว และศาลอาญาคดีทุจริตฯ
อนุญาตขยายอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 25 มิ.ย.แล้ว นายประยุทธ
ชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนั้น
ทางสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ยังไม่ทราบคำสั่งชี้ขาดของอัยการสูงสุด
จึงได้ยื่นอุทธรณ์ไปตามระเบียบก่อน
นายประยุทธ กล่าวอีกว่า “ถือว่าคดีนี้สิ้นสุดลงแล้วตามกฎหมาย
ส่วนรายละเอียดเหตุผลในการสั่งคดีดังกล่าว ทางนายวงศ์สกุล อัยการสูงสุด
ได้สั่งการให้อัยการที่เกี่ยวข้องรายงานชี้เเจงมาเพื่อทราบต่อไป”